วันเสาร์ที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2554

เศรษฐศาสตร์

  เศรษฐศาสตร์  เป็นวิชาที่ศึกษาถึงพฤติกรรมของมนุษย์ในสังคม เกี่ยวกับการเลือกใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด  เพื่อผลิตสินค้าและบริการไปบำบัดความต้องการของมนุษย์อันมีอยู่อย่างไม่จำกัด  เศรษฐศาสตร์ แบ่งออกเป็น 2 แขนง คือ เศรษฐศาสตร์จุลภาค เป็นการศึกษาเศรษฐกิจหน่วยย่อย และเศรษฐศาสตร์มหภาค เป็นการศึกษาเศรษฐกิจส่วนรวม ทั้ง 2 แขนง มีความสัมพันธ์กัน และมีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน นอกจากนี้ เศรษฐศาสตร์ยังมีความสัมพันธ์กับวิชาอื่น ๆ เช่น บริหารธุรกิจ รัฐศาสตร์ นิติศาสตร์ และจิตวิทยา เป็นต้น
          
ทฤษฎีเศรษฐศาสตร์  แบ่งเป็น 2 ชนิด คือ ทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ตามที่เป็นจริง เป็นการศึกษาเพื่อให้รู้ว่าอะไรคืออะไร และทฤฎีเศรษฐศาสตร์ตามที่ควรจะเป็น เป็นการศึกษาเพื่อตัดสินว่าคุณค่าของสิ่งใดสิ่งหนึ่งมีผลกระทบต่อสังคมอย่างไร
          
การศึกษาเศรษฐศาสตร์ มี 2 วิธี คือ วิธีอนุมาน เป็นการศึกษาจากสาเหตุไปหาผล และวิธีอุปมาน เป็นการศึกษาจากผลเพื่อหาสาเหตุ ทุกสังคมในโลกล้วนมีปัญหาพื้นฐานทางเศรษฐกิจ เนื่องจากมีปัจจัยการผลิตจำกัด ทำให้ต้องมีการตัดสินใจว่า จะใช้ปัจจัยการผลิตนั้นไปเพื่อเลือกผลิตอะไร ใช้กรรมวิธีผลิตอย่างไร และจะแบ่งปันสินค้าและบริการที่ผลิตได้ไปให้ใครบ้าง
          
เศรษฐศาสตร์เป็นวิชาที่มีประโยชน์มาก เพราะเกี่ยวข้องกับการดำรงชีวิตประจำวันของมนุษย์ ไม่ว่าจะอยู่ในฐานะผู้ผลิต เจ้าของปัจจัยการผลิต หรือผู้บริโภค
 
 ตลาดในทางเศรษฐศาสตร์ หมายถึง การที่ผู้ซื้อและผู้ขายสามารถตกลงซื้อขายสินค้าและบริการกันได้
          ปัจจัยที่กำหนดขนาดของตลาด  ได้แก่ ลักษณะของสินค้า  รวมถึงรูปร่างของสินค้า การบริการ  สีสัน ขนาด ตรา การสื่อสารและการคมนาคม ถ้าสินค้าใดที่สามารถขนส่งจากมือผู้ผลิตไปยังมือผู้บริโภคด้วยระบบการขนส่งที่สะดวกรวดเร็วและประหยัด ย่อมทำให้ตลาดของสินค้านั้นขยายกว้างออกไป ถ้าการสื่อสารดี ก็จะทำให้การติดต่อถึงกันสะดวกและรวดเร็ว สามารถตกลงเจรจาการค้ากันทางการสื่อสารได้ ทำให้ตลาดขยายกว้างขวางยิ่งขึ้น นโยบายของรัฐบาล  ที่เกี่ยวข้องกับตลาดของสินค้าและบริการจะมีผลทำให้ขอบเขตของตลาดขยายหรือแคบลงได้  ความต้องการของตลาด  ตลาดจะขยายตัวออกไปได้กว้างขวางเพียงใดนั้น ขึ้นอยู่กับความต้องการของผู้บริโภคที่มีต่อสินค้านั้น ๆ  การกระจายรายได้ของประชาชนในประเทศนั้น ๆ  ถ้าประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศยากจน มีรายได้ต่ำ การขยายตัวของตลาดสินค้าบางชนิดจะทำได้ยาก  ขนบธรรมเนียมประเพณีและความเชื่อ  การบริโภคสินค้านั้น ๆ ในบางครั้งก็มีผลสืบเนื่องมาจากความเชื่อทางศาสนาหรือวัฒนธรรมด้วย 
          ลักษณะของตลาดที่มีการแข่งขันอย่างสมบูรณ์ 
 จะต้องมีลักษณะสำคัญ ดังนี้ มีผู้ซื้อและผู้ขายจำนวนมาก  สินค้าที่ซื้อขายกันมีลักษณะและคุณภาพเหมือนกันทุกประการ  ผู้ซื้อและผู้ขายจะต้องมีความรู้เรื่องสภาวะตลาดเป็นอย่างดี  การติดต่อซื้อขายจะต้องกระทำได้สะดวกรวดเร็ว  ผู้ผลิดรายใหม่จะมีเสรีภาพเข้ามาดำเนินการผลิตในตลาดได้โดยสะดวก
          ลักษณะของตลาดที่มีการแข่งขันอย่างไม่สมบูรณ์  ซึ่งจำแนกออกเป็น  3 ชนิด ย่อย ๆ คือ ตลาดผูกขาดหรือตลาดผู้ขายเพียงรายเดียว  ตลาดประเภทนี้จะมีผู้ขาย ผู้ผลิตเพียงรายเดียว ทำให้สามารถกำหนดราคา ปริมาณการผลิต การจำหน่ายได้อย่างสมบูรณ์แบบ  ตลาดผู้ขายน้อยราย  จะมีผู้ขายไม่มากราย แต่ละรายจะขายสินค้าเป็นจำนวนมาก เมื่อเปรียบเทียบกับปริมาณสินค้าทั้งหมดในตลาด  ตลาดกึ่งแข่งขันกึ่งผูกขาด  ผู้ขายแต่ละรายจะมีอิสระในการกำหนดราคาและจำนวนผลิต โดยไม่กระทบกระเทือนต่อผู้ผลิตรายอื่น